คำถาม : การดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์มีวิธีการดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : การขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์จะต้องปฏิบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์
พ.ศ.2542 ประกอบระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยวิธีดำเนินการขอจัดตั้งสหกรณ์ พ.ศ.2547
ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธี
ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และ
ผู้ขอจัดตั้งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งกำหนดไว้ 6 ขั้นตอน ตามคู่มือการ
จัดตั้งสหกรณ์ โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่
https://kalasin.web.cpd.go.th/cooperative-knowledge/cooperative-establishment-process.html และสามารถ
สอบถามข้อมูลการจัดตั้งสหกรณ์ โดยตรงได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์
เลขที่ 6/10 ถนนเลี่ยงเมืองทุ่งมน ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000
โทรศัพท์ 0 4381 1703 โทรสาร ต่อ 26
ที่มา
กรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดยเจตนารมณ์ในการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ครั้งแรกเพื่อใช้วัดประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ที่ชัดเจน และเป็นการประเมินผลการบริหารจัดการของสหกรณ์เบื้องต้น โดยไม่ได้มีเจตนาที่ใช้วัดความเป็นมาตรฐานของสหกรณ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ใช้การจัดมาตรฐานเพื่อวัดประสิทธิภาพการส่งเสริมสหกรณ์ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และใช้วัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ควบคู่กัน
วัตถุประสงค์ของการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์
1. เพื่อประเมินศักยภาพในการดำเนินงานของสหกรณ์แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนจุดแข็ง อย่างไร มีศักยภาพที่จะอำนวยบริการประโยชน์แก่สมาชิก ซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์ได้ดี เพียงใด มีความสามารถในการบริหารจัดการมากน้อยเพียงใด
2. เพื่อจัดระดับสหกรณ์แต่ละประเภทตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ประโยชน์ของการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์
1. สหกรณ์ได้ทราบถึงสถานะและผลการดำเนินงานของตนในภาพรวมเบื้องต้น เนื่องจากตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ เป็นเกณฑ์เบื้องต้นทั่วไปที่สหกรณ์สามารถดำเนินงานให้ผ่านได้ โดยยึดหลักการและวิธีการสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. สหกรณ์สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงาน หรือแนวทางการพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานในแต่ละระดับได้ เช่น หากสหกรณ์ตกมาตรฐานข้อใด ก็ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขปรับปรุง ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อนั้น ๆ หากสหกรณ์ผ่านมาตรฐานในระดับดี ก็ควรพิจารณาหาแนวทางที่จะยกระดับการผ่านมาตรฐานสหกรณ์ให้เป็นระดับดีมากหรือดีเลิศ
3. สหกรณ์ได้รับสิทธิบางประการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด เช่น การพิจารณาขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ การพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น
คำถาม : สหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล คืออะไร
คำตอบ :
ความหมาย
สหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล หมายถึง สหกรณ์ที่มีการดำเนินงานอย่างมีระบบ มีการควบคุมภายในที่ดี ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ บริหารจัดการด้วยการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติถือใช้อย่างเคร่งครัด และมีการดำเนินงาน โดยยึดหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการของสหกรณ์อย่างแท้จริง
วิธีการประเมิน
การประเมินสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล มีเกณฑ์พิจารณาตามหลักธรรมาภิบาล 9 หลัก (หลักประสิทธิผล หลักประสิทธิภาพ หลักการตอบสนอง หลักภาระรับผิดชอบ หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักการมอบอำนาจ หลักนิติธรรม และหลักความเสมอภาค) รวม 37 ข้อย่อย แต่ละข้อมีระดับการพิจารณา 5 ระดับ รวมคะแนนเป็น 100 คะแนน และพิจารณาเพิ่มเติม คือหากสหกรณ์ใดมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จะตัดคะแนน ดังนี้
1. ทุจริต ตัด 30 คะแนน
2. ข้อบกพร่องทางการบัญชี ตัด 10 คะแนน
3. การกระทำนอกกรอบวัตถุประสงค์ ตัด 10 คะแนน
4. พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ตัด 10 คะแนน)
การประกาศผลสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล
สหกรณ์ที่จะได้รับการประกาศเป็นสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล คือ สหกรณ์ที่มีคะแนนในแต่ละหลัก ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 และมีคะแนนรวมกันทุกหลัก (หลังจากพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์แล้ว) ร้อยละ 85 ขึ้นไป